วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

"ครู" ในภาวะวิกฤติ..!!

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต


“สารพันปัญหา” ที่รุมเร้าประเทศไทยในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติน้ำท่วม ความแตกแยกทาง การเมือง เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมเสื่อมโทรม หรือแม้แต่ปัญหาก่อการร้าย ล้วนเป็นสิ่งที่ฉุดคร่าให้สังคมตกอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้...วิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ณ วันนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่จำเป็นต้องอาศัยทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น



หนึ่งในวิชาชีพที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงบทบาทในการมีส่วนร่วมแก้ไข บรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม คงหนีไม่พ้น “วิชาชีพครู”... (เรียกได้ว่า “ปัญหาอะไรต่อมิอะไร” ส่วนใหญ่มักจะลาก “ครู” เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเสมอก็ว่าได้..!!?)

สาเหตุที่ทำให้ “ครู” เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ หากพิจารณาในมิติเชิงปริมาณพบว่าเกิดจากจำนวนบุคลากรครูที่มีหลายแสนคน และกระจายไปในทุกภาคส่วนของประเทศ ย่อมทำให้ครูเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

แล้วยิ่งหากพิจารณาในมิติเชิงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการที่ครูเป็นผู้นำทางสังคมที่มีคนนับหน้า ถือตา ซึ่งสามารถดึงความร่วมมือจากชุมชนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ครูเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ

หรือแม้แต่บทบาทของครูที่เป็นผู้ขัดเกลาและอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนให้เป็น ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ผนวกกับความมีจิตสาธารณะของ “ครูโดยเนื้อแท้” ที่พร้อมสละอุทิศตน เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมส่วนร่วม ก็ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ครู ไม่อาจหลีกเลี่ยงบทบาทการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ได้

เหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของความมีส่วนร่วมของครูในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภารกิจในระหว่างน้ำท่วมซึ่งครูได้มีการสละเงินทองและทรัพย์สิน ของครู เพื่อบริจาคสิ่งของให้ผู้ประสบภัย การเปิดโรงเรียนเป็นศูนย์ดูแลผู้อพยพ โดยครูต้องทำหน้าที่เป็นครูดูแลผู้ประสบภัยอย่างแข็งขัน

ภารกิจหลังน้ำลด “ครูช่าง หรือ ครูโรงเรียนอาชีวะ” ก็ต้องรับบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการทำความสะอาด ที่พักอาศัย ซ่อมแซมระบบไฟฟ้า – ประปา และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ

ที่ใช้ภายในครัวเรือน เครื่องมือทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย

ขณะที่ครูในบางส่วนก็สวมวิญญาณ “พนักงานทำความสะอาดจำเป็น” โดยนำเด็กและเยาวชนทำหน้าที่ทำความสะอาดโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนต้องเตรียมสอน และสละเวลาส่วนตัว เพื่อสอนชดเชยจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งทำให้ต้องหยุดการเรียนการสอนไป

ส่วนสถานการณ์ความแตกแยกทางการเมือง ครูจำเป็นต้องรับบทบาทในการอบรมสั่งสอนและปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจแก่นแท้ของ การเมืองระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นระบอบการปกครอง ที่นอกจากจะต้องมีการจำกัดอำนาจ มีการแบ่ง และกระจายอำนาจ มีการตรวจสอบ และถ่วงดุล หรือคานอำนาจทางการปกครองแล้ว การตัดสินใจที่เป็นไปตามมติข้างมากของรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงสิทธิ และรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายข้างน้อยอีกด้วย

จากแนวคิดและอุดมการณ์ตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้อิสระกับสังคมในการแสดงความ คิด เห็นนั้น ย่อมส่งผลให้บางครั้งเกิดการแสดงความคิดเห็นที่กระทบกระทั่งกันจนเป็นเหตุ ให้เกิด “ความแตกต่าง” ดังนั้นความแตกต่างจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามความแตกต่างจนแตกแยกเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย แบบชัดชัด

ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ครูก็ต้องทำหน้าที่ในการปลูกฝังเด็กและเยาวชนไทยให้รู้จักการประหยัดอดออม การรู้จักกิน รู้จักใช้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ตลอดจนปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ความเสื่อมโทรมของสังคม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ครูต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาทั้งอบรมสั่งสอน ให้เด็กและเยาวชนปฏิบัติตนเป็นคนดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และอบายมุขในรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังต้อง ทำหน้าที่ในการสอดส่องดูแลพฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กและเยาวชน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เด็กและเยาวชนประพฤติปฏิบัติตนผิดพลาดไปอีก ด้วย

ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ คือ บทบาทหน้าที่ของครูในภาวะวิกฤติของประเทศเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และครูยังมีบทบาทหน้าที่อีกมาก โดยเฉพาะ “การอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดีและเก่ง”...

บทบาทหน้าที่ของครูต่อสังคมไทยนั้น ไม่ว่าจะในยุคภาวะวิกฤติ หรือยุครุ่งเรือง ต่างก็เป็นภาระที่หนักอึ้งทั้งสิ้น ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ครูต่อสู้ยืนหยัดได้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากจิตวิญาณความเป็นครูของครูของ แต่ละท่านเอง การได้รับการยอมรับจากสังคมถึงความเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะการมีกิจกรรม “วันครู”

ใน วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ครูรู้สึกอิ่มเอมใจ โดยแก่นสาระการจัดงาน “วันครู” ในปี 2555 คือ “ครูดี ตามรอย...พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”

เรื่องของ “ครู” ณ วันนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ในกระแสหรือความสนใจของคนในสังคมมากนั้น เพราะสังคมไทยมีปัญหาอีกมากที่ควรได้รับความสนใจ แต่อย่างน้อย “วันครู” ก็อยากให้คนไทยสนใจปัญหาของครูบ้าง...เพราะเมื่อประเทศเกิดภาวะวิกฤติอะไร ต่อมิอะไรก็ตกหนักที่ “ครู” เสมอ

ว่าไปอีกไม่ถึงเดือนก็จะถึง “วันครู” อีกแล้ว...ปีนี้ใครจะสนใจเรื่องของ “ครู” บ้างไหม..!!?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น