วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ย้ายครูไกลบ้าน ทำครอบครัวแตก!

ตั้งอนุกรรมการฯ ปรับปรุงให้เหมาะสมที่สุด! เกณฑ์ย้ายครู-เลื่อนวิทยฐานะ เพื่อลดปัญหาด้อยประสิทธิภาพในการสอน

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต (มสด.) เปิดเผยว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ
ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เรื่อง ตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน โดยแต่งตั้งให้ตนเอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ ให้ถือว่าเรื่องการย้ายครูคืนถิ่นเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที เพราะปัญหาการย้ายครูคาราคาซังมานาน และยังได้รับการร้องเรียนมากว่าการย้ายครูโดยทั่วไป ไม่ตอบสนองต่อทำงานที่เกิดประสิทธิภาพ เพราะครูถูกย้ายไปในถิ่นที่ห่างไกลจากครอบครัว ก่อให้เกิดปัญหาบ้านแตก ขาดความอบอุ่น จนกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เอื้อกับความต้องการของครูที่ขอย้ายมากที่ สุด โดยยึดหลักเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย และสร้างความอบอุ่นในครอบครัว เน้นการขอย้ายกลับบ้านของตนเอง หรือย้ายไปอยู่กับคู่สมรส ทั้งนี้ จะพิจารณาคำขอย้ายของครูที่บ้านประสบปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติในครั้งนี้ เป็นลำดับต้นๆ ก่อนด้วย

รศ.ดร.สุขุม กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ยังได้ลงนามในประกาศ ก.ค.ศ.เรื่องตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจจัดทำร่างหลักเกณฑ์การวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้า ราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และแต่งตั้งให้ตนองเป็นประธานอีกคณะหนึ่งด้วย โดยมีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์กฎหมาย กฎระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการ นโยบายที่เกี่ยวข้องและบริบทในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูฯ เพื่อกำหนดแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูฯ มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ และจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินให้มีความเหมาะสม

เนื่องจากในปัจจุบันการขอเลื่อนวิทยฐานะ จะเน้นการทำผลงานวิจัย เป็นเอกสาร ตำรา คล้ายกับการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งมักเกิดปัญหาเรื่องการจ้างทำผลงาน หรือคัดลอกผลงานผู้อื่น รวมถึงปัญหาการทิ้งชั้นเรียนโดยไม่สนใจเด็ก เพื่อมุ่งแต่จะขอเลื่อนวิทยฐานะ ดังนั้น อ.ก.ค.ศ.จะจัดทำร่างปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการขอเลื่อนวิทยฐานะ โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นสำคัญ เพื่อครอบคลุมครูทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีผลงาน รางวัล เป็นที่ยอมรับจนได้รับการยกย่องจากสังคมด้วย

"แม้จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การย้ายของครู และปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของครูขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ แต่ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ครูจะสามารถขอย้ายและขอเลื่อนวิทยฐานะได้ เพื่อลดปัญหาการด้อยประสิทธิภาพในการทำงานของครู ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯทั้ง 2 ชุดจะเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นคณะกรรมการฯจะนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาและประกาศใช้ต่อไป" รศ.ดร.สุขุม กล่าว

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สอบใหม่12พื้นที่ฉาว


     สพฐ.กำหนด สอบบรรจุบุคลากรใน 12 เขตพื้นที่ฯ ฉาวใหม่ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบใหม่ เชื่อมั่นป้องกันข้อสอบรั่ว ทุจริตได้

     นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการชะลอสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งบุคลากรทางการ ศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ใน 12 สพท. หลังได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการจ่ายเงินเพื่อแลกกับการบรรจุดังกล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดวันสอบดังกล่าวใหม่แล้ว ซึ่งได้กำหนดให้สอบในวันที่ 27 พ.ย.นี้ หลังจากได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย

     ทั้งนี้ ในการสอบครั้งใหม่นี้ สพฐ.จะให้มหาวิทยาลัยดำเนินการทั้งหมด ทั้งการออกข้อสอบใหม่ จัดสอบ และประมวลผล และค่อยส่งผลคะแนนกับมาที่ สพฐ. อย่างไรก็ตาม ก็เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะป้องกันการทุจริตต่างๆ ได้ อาทิ การรั่วไหลของข้อสอบ การให้คะแนนสอบ เป็นต้น

     เลขาธิการ สพฐ .กล่าวว่า ในวันพุธที่ 12 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมกับเขตพื้นที่ฯ ทั้ง 12 เขต เพื่อทำความเข้าใจในการจัดสอบบรรจุดังกล่าวใหม่ ทั้งภาค ก. และภาค ข. ทั้งนี้ ที่ต้องเรียกมาทำความเข้าใจนั้น เพราะเดิมทางเขตพื้นที่ฯ จะเป็นผู้ออกข้อสอบ และประมวลผลเอง แต่ในเมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น และต้องการให้มีความโปร่งใส รวมทั้งมีความน่าเชื่อถือ จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ให้ สพฐ.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเอง แต่ทั้งนี้ในการสอบภาค ค. ก็ยังคงให้สิทธิ์ทางเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการเองต่อไป

     "การให้มหาวิทยาลัยมาทำหน้าที่นี้ ตนก็เชื่อว่าจะทำให้การสอบภาค ก. และ ภาค ข. มีความนิ่งมากขึ้น และหากเกิดอะไรไม่ดี ก็จะสามารถตรวจสอบได้ง่าย" นายชินภัทรกล่าว

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แจกแท็บเล็ตให้ครู

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ รักษาการปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้แทนองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกประจำประเทศไทย ได้เข้าหารือกับตนในเรื่องจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็ก โดยยูเนสโกมีผลการศึกษาการใช้แท็บเล็ตในเด็กแต่ละช่วงชั้น ซึ่งในหลายประเทศเริ่มใช้กันแล้ว ทั้งนี้ยูเนสโกจะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องขององค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร และการเชื่อมโยงเครือข่าย ซึ่งตนเสนอว่าภาษาในเครื่องแท็บเล็ตควรจะต้องใช้ภาษาไทยทั้งหมด ส่วนช่วงชั้นที่จะใช้นั้นทางยูเนสโกเสนอว่าในหลายแห่ง อาทิ มาเลเซีย จีน มาเก๊า จะไม่เริ่มใช้ในเด็กชั้น ป. 1-6 แต่จะให้เด็กระดับมัธยมศึกษา และยังมีการแจกแท็บเล็ตให้ครูด้วย นอกจากนี้บางประเทศมีการให้คูปองเพื่อให้เด็กนำไปเลือกซื้อแท็บเล็ตเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งนี้ตนจะนำข้อสรุปที่ได้เสนอต่อนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ และจะนำไปหารือในที่ประชุมองค์กรหลักของ ศธ.ด้วย

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ศธ.ร่างหลักเกณฑ์ใหม่ครูคืนถิ่น


     นาย อภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เกี่ยวกับการย้ายตามนโยบายครูคืนถิ่น ว่า จากที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุลรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูที่ต้องการกลับภูมิลำเนา สามารถโอนย้ายได้โดยไม่ติดขัดข้อกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งเดิมกำหนดไว้เพียงสั้นๆ จึงทำให้แต่ละ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการที่ทำหน้าที่พิจารณาการโยกย้าย ตีความต่างกัน ทำให้มีแนวปฏิบัติที่ต่างกันดังนั้นจึงต้องกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อใช้กับครูทุกพื้นที่ โดยขณะนี้ตนได้มอบหมายให้คณะทำงานจัดทำร่างหลักเกณฑ์ใหม่ โดยไม่ต้องแก้กฎหมายของ ก.ค.ศ.


     นายอภิชาติกล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ ก.ค.ศ.ที่ผ่านมาเป็นปัญหา ทำให้ครูไม่สามารถย้ายกลับภูมิลำเนาได้ตามความต้องการ เช่น กรณีข้าราชการครูที่สามีเสียชีวิต และไม่สามารถเลี้ยงลูกคนเดียวได้ หากต้องการกลับไปอยู่กับ
ครอบครัว ก็สามารถให้โอนย้ายได้เป็นกรณีพิเศษทันที จากเดิมที่ต้องรอขอโอนย้ายในช่วงที่ราชการกำหนด คือให้ขอย้ายปีละ 2 ครั้งได้แก่ ช่วงเดือนเมษายนและเดือนตุลาคม หรือกรณีของครูผู้ช่วยที่เดิมกำหนดว่าต้องปฏิบัติราชการในโรงเรียนที่ได้รับ การบรรจุเป็นเวลา2 ปี ถึงจะขอโอนย้ายได้ตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาบางจังหวัด เช่น ครูผู้ช่วยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความจำเป็น ก็สามารถขอโอนย้ายได้เป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น


     "การยกร่างหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว เพื่อออกเป็นมาตรการให้ครูได้กลับไปทำงานใกล้ภูมิลำเนาไม่ใช่กลับไปทำงานใน ภูมิลำเนาเท่านั้น เพราะถ้ากำหนดว่าให้กลับภูมิลำเนาได้และหากภูมิลำเนาที่ครูอาศัยไม่มี ตำแหน่งว่าง ก็ต้องลงในโรงเรียนที่ใกล้ภูมิลำเนามากที่สุดดังนั้นผมต้องอธิบายให้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เข้าใจ โดยอาจจะให้ปรับเป็นครูใกล้ภูมิลำเนาแทน โดยร่างดังกล่าวจะต้องเสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณา ก่อนประกาศใช้ต่อไป" นายอภิชาติกล่าว